เทคนิคในการเลือกของที่ระลึกให้ถูกใจผู้รับ

  1. ผู้ให้ ของที่ระลึก ต้องเป็นผู้ “เสียสละ” อย่างยิ่งใหญ่

อ่านหัวข้อแบบนี้แล้วอย่าคิดว่าเราต้องมากรีดเลือดให้แฟน หรือต้องเสียเงินเป็นหมื่นเพื่อซื้อของที่ระลึก นะคะ  การ”เสียสละ” ในที่นี้หมายถึงการลงทุนในเรื่องเวลา  หรือความทุ่มเทที่จะทำอะไรสักอย่างเพื่อคนที่เรารัก   สิ่งสำคัญในการให้ของที่ระลึก คือ การสื่อถึงความหวังดีและความจริงใจจากผู้ให้  จริงไหมคะ

หากคุณเป็นคนไม่ชอบทำอาหาร  การที่คุณลุกขึ้นมาทำอาหารให้คนรักทานในวันพิเศษ​  อาจจะเป็นของที่ระลึกที่ประทับใจสุดๆ ของคนที่คุณรักก็ได้    หรือเราอาจจะทำของขวัญ​Handmade ง่ายๆ เช่นการ์ดปีใหม่ หรืออัลบั้มภาพ ให้คนที่เรารักก็ได้ค่ะ  นอกจากนี้การเสียสละเวลาไปเดินตามหาของวินเทจเก๋ๆ สำหรับเพื่อนสาวที่รักของเรานั้นก็นับว่าเป็นการเสียสละเหมือนกัน

  1. ของที่ระลึกที่ดีควรมีจุดประสงค์เพื่อ ”ให้ผู้รับมีความสุขที่สุด“

ของที่ระลึกที่ดีไม่ต้องการสิ่งตอบแทน  การให้ของที่ระลึกนั้นควรมีจุดประสงค์เพื่อ “ให้ผู้รับมีความสุขที่สุด” เป็นหลัก  ข้อนี้บางคนอาจเห็นเป็นเรื่องง่ายๆ ใช่ไหมคะ แต่หลายคนไม่รู้ตัวเลยว่าตัวเองซื้อของที่ระลึก “ที่ตัวเองชอบ” ให้คนที่รัก แทนที่จะซื้อของที่ระลึกที่เขาชอบ  พอเป็นแบบนี้แทนที่จะทำให้คนรักมีความสุขกลับกลายเป็นทำให้เขาลำบากใจมากกว่าเดิม

  1. ของที่ระลึกที่ดีนั้นควรเป็น“ความหรูหรา” สำหรับผู้รับ

ความหรูหรา ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงโลโก้แบรนด์เนมแพงระยับบนกระเป๋าหรอกนะคะ แต่หมายถึงการให้ของพิเศษซึ่งเป็นของที่ผู้รับ “อยากได้”  ไม่ใช่ของที่เขา “จำเป็น” ต้องใช้   หากคนที่คุณรักมีนักร้อง ดารา นางแบบ  ตัวการ์ตูนหรือหนังที่ชอบตั้งแต่เด็ก  ลองซื้อของที่ระลึกให้เขาดูนะคะ  บางทีของที่หลายคนมองว่าเป็นของ “ไม่จำเป็น”  หรือเป็น “ของรกบ้าน”  อาจมีความสำคัญมากๆ สำหรับเขาก็ได้ค่ะ

  1. ของที่ระลึกที่ดีควรมีความเหมาะสมกับผู้รับ

การให้ที่ระลึกที่ดี เราควรคำนึงถึงเพศ อายุ และความสัมพันธ์ของเรากับผู้รับของที่ระลึก

ในวัฒนธรรมเอเชียที่ให้ความสำคัญกับผู้อาวุโส   การที่ผู้ใหญ่ให้ของที่ระลึกเป็นเงินกับเด็กๆ นั้นดูไม่แปลกแต่ถ้าเด็กให้กลับบ้างก็คงไม่เหมาะสมเท่าไหร่

การซื้อของที่ระลึกที่แพงเกินไปก็อาจทำให้ผู้รับลำบากใจ  และอาจดูเป็นการโอ้อวดตนเองได้เหมือนกัน   (หากคนรับมีนิสัยดีพอนะคะ)

การให้ของที่ระลึกคนที่มีครอบครัวแล้ว  อาจต้องคำนึงถึงทางบ้าน  และให้ของที่ครอบครัวเขาสามารถใช้ได้ด้วย

เพราะฉะนั้นก่อนให้ของขวัญลองไตร่ตรองสักนิด ว่าเหมาะสมหรือไม่  หากไม่แน่ใจลองถามผู้คนรอบข้างก่อนก็ได้ค่ะ

  1. ของที่ระลึกที่ดี ต้องมีความ “น่าประหลาดใจ“

ใครๆ ก็ชอบความคาดไม่ถึง  นั่นเป็นสาเหตุที่เราต้องใช้กระดาษห่อขงที่ระลึกก่อนให้  เพื่อที่ผู้รับจะได้สงสัยว่าข้างในกล่องมีอะไรนะ   ก่อนจะให้ของที่ระลึกลองคิดรอบๆ ด้านก่อนก็ได้ค่ะ  ว่าผู้รับของที่ระลึกนั้นคาดหวังว่าจะได้รับอะไร

ตัวอย่างง่ายๆ เลย เช่น หากเรารู้ว่าผู้ใหญ่บางท่านอาจได้รับกระเช้าของขวัญทุกปีจนเบื่อ  อาจจะลองหาของอื่นให้เขาก็ได้ค่ะ

  1. ของที่ระลึกที่ดีต้องเป็นของที่ผู้รับ“อยากได้“

ลองพิจารณาถึงธรรมชาติ  และความชอบของผู้รับของขวัญตามความเป็นจริง  ลองดูว่าเขาชอบทำอะไรในเวลาว่างค่ะ

ตัวอย่างง่ายๆ เลยก็คือสาวๆ ที่ชอบเครื่องสำอาง  ถึงแม้จะมีครบทุกอย่างเต็มตู้ไปหมด มีครบทุกเฉดสีแล้ว  แต่พวกเธอก็จะมีความสุขสุดๆ ที่ได้เครื่องสำอางใหม่เป็นลิปกลอสสักแท่ง

คนชอบทำอาหารมักจะมีความสุขที่จะได้รับอุปกรณ์ทำครัวไม่ว่าจะเป็นกะทะหรือหม้อ ถึงแม้เขาจะมีหม้อร้อยใบอยู่ที่บ้านแล้วก็ตาม

เช่นเดียวกับคนที่ชอบวาดภาพ  การได้รับสมุดวาดภาพดีๆ หรืออุปกรณ์วาดภาพสวยๆ ก็ทำให้เขามีความสุขที่สุดแล้วค่ะ

คนที่ชอบทานกาแฟก็คงดีใจที่ได้รับเครื่องทำกาแฟ

คนชอบจักรยานก็ย่อมชอบกระเป๋าติดจักรยาน กริ่งจักรยาน หรือแม้แต่โมเดลจักรยาน ฯลฯ